ตาเป็ดตาไก่
“ตาเป็ดตาไก่”
เป็นไม้ป่าอีกชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นชอบตาม “ป่ายาง” ที่เรียกป่ายางเพราะสมัยก่อนตอนผมเด็กๆมีแต่ต้นยางพาราพื้นเมืองแท้ๆที่ท่านพระยารัษฎาฯ
(คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้นำมาปลูก ตอนนำมาปลูกตอนแรกๆนอกจากท่านได้ปลูกไว้ที่อำเภอกันตัง
จังหวัดตรัง ใกล้ที่พักของท่านแล้ว ท่านให้คนใช้ธนูคัน (ก็คล้ายกับธนูที่ยิงศรเป็นอาวุธนั่นแหละแต่แทนที่ทำสำหรับยิงลูกศร
ก็ใช้ย่านลิเพาถักเป็นรังสำหรับใช้ใส่ลูกกระสุนดินเหนียวใช้ยิงนกหรืออาจจะใช้ยิงหัวคนให้ตัวแตกก็ได้
สมัยก่อนเขาใช้กันก่อนที่จะมี หนังสติ๊ก ใช้) ผมเองก็ใช้แต่ไม่ได้เรื่องไม่เคยยิงเข้าเป้าสักทีสู้ยิงด้วยหนังสติ๊กไม่ได้ง่ายกว่ากันเยอะ
อ้อ...มีการยิงเข้าเป้าด้วยธนูคันเหมือนกันคือหัวแม่ตัวเองที่จับคันธนูนั่นแหละ
ยิงไม่ชำนาญเลยยิงเอาหัวแม่มือตนเอง...วกมาหาการปลูกยางด้วยการยิงด้วยธนูคัน
ก็คือเอาเมล็ดยางพาราใส่ในรังกระสุนแล้วยิงไปให้ตกไกลๆตามป่าตามเขาเพื่อเป็นการขยายพันธ์
เมื่อต้นใหญ่ขึ้นก็ถางต้นไม้ที่ไม่ต้องการออกเป็นทางไปกรีดยาง เมื่อออกลูกมีเมล็ดแตกออกมาก็นำไปขยายพันธ์
ให้ชาวบ้านชาวช่องนำไปปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน
ผมจะพูดเรื่องต้น “ตาเปิดตาไก่” ก็ไปออกเรื่องยางพาราพื้นเมืองเสียได้
เอาละ...กลับมาหาเรื่อง “ตาเป็ดตาไก่”กันใหม่
มันชอบขึ้นตามป่าทั่วไปแต่ที่ผมเจอมากที่สุดก็คือในป่ายาง
เพราะผมตามคุณแม่เข้าไปป่ายางบ่อยๆในป่าลึกจริงๆไม่ค่อยได้เข้าไปหรอก
กลัวเสือเพราะได้ยินเสียงมันร้องคำรามแทบทุกวันเลย แถมยังแอบเอาสุนัขตัวโปรดของผมสมัยเด็กไปกินเสียอีก
“ต้นตาเป็ดตาไก่” เป็นต้นไม้พุ่มขนาดกลางสูงประมาณ ๒ – ๓ เมตร
ยิ่งอยู่ในป่าใหญ่ยิ่งสูง มีใบรีรูปหอก ออกดอกและออกลูกเป็นช่อละประมาณ ๑๐ – ๑๕
ลูก ลูกอ่อนขาวแกมเขียว เมื่อแก่ลูกจะออกสีแดง เมื่อสุกเป็นสีดำ
(อันนี้ใครค้นทางอินเทอร์เน็ตอาจจะงงเพราะจะเจอข้อมูลว่า “ตาเป็ดตาไก่” เป็นผลไม้มงคลของชาวอาทิตย์อุทัย
และเป็นไม้นำเข้า ลูกสุกจะเป็นสีแดงสด) แต่ผมดูจากภาพในอินเทอร์เน็ตที่เขาเอามาปลูกกันเป็นไม้กระถาง
มันไม่ใช่ “ตาเป็ดตาไก่” ที่กล่าวถึง
เพราะผมกล่าวถึงแม้มีใบรีเหมือนกันแต่มันก็มีส่วนต่างกันอยู่ ส่วนลูกนั้นไม่ได้ออกลูกยั้วเยี้ยอย่างที่เห็น
และยิ่งว่าเป็นไม้นำเขาจากญี่ปุ่นผมก็สงสัยว่าญี่ปุ่นนำเข้ามาตั้งแต่เมื่อไร
จะว่านำเข้าตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คงจะไม่ใช่เพราะถ้าชาวญี่ปุ่นนำเข้ามาคงไม่เอาไปปลูกไว้ในป่าลึกๆหรอก
และพอผมจำความได้ก็เห็น “ต้นตาเป็ดตาไก่” แล้ว
ทีนี้มาถึง “ลูกตาเป็ดตาไก่” เมื่อผมคุณแม่เข้าไปในป่ายางเจอต้องรีบเก็บทันทีกินไปพลางเดินตามคุณแม่ไปพลาง
รสหวานอร่อย แต่ลูกมันเล็กไปหน่อยขนาดใหญ่หน่อยก็เท่าปลายนิ้วก้อย แต่ถ้าดูไม่ดีอาจจะเผลอไปเก็บเอาลูกต้นขาไก่ที่มีลูกคล้ายกันเอาได้(ต้นขาไก่เป็นไม้ที่เหนียวครูขอบให้เด็กตัดมาทำไม้เรียวหวดก้นเจ็บนักแล
และผมก็เคยใช้ตอนที่ไม้เรียวยังไม่ได้ถูกหัก) ภาพที่ผมหามาให้ดูไม่ได้ถ่ายเองหรอก
เอามาจากอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ
ตั้งจะถ่ายเองเหมือนกันแต่เมื่อไปเห็นต้นที่เขาปลูกกันไว้
ผมว่ามันไม่ใช่ก็เลยขี้เกียจถ่าย
ที่นี้เรามาลองอ่านดูข้อมูลทางพฤกษศาสตร์กันดูนะครับ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia lenticellata Fletch. ( Ardisia
fulva King & Gamble)
ชื่อวงศ์ MYRSINACEAE
ชื่ออื่น - พิลังกาสาเล็ก, มะจ้ำเล็ก, หัวขวาน
ตาเป็ดตาไก่ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง 2-4 เมตร ลำต้นตรง
ใบ ใบเดี่ยวรูปหอก ปลายใบแหลม
ผิวใบเรียบและขอบเป็นหยักเป็นลอนตื้น
ดอก ดอกเล็กสีขาวแกมชมพู เป็นช่อกระจุกออกตาม
ยอดและข้างกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ
10-20 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะเห็นกลีบดอก
5 กลีบ แฉกคล้ายดาวมีเกสรยื่นเป็นปุ่มอยู่ตรงกลาง
ผล ออกเป็นกระจุกก้านช่อยาว ลักษณะผลเหมือนรูปครึ่งวงกลมมน
ผลสุกสีแดงผิวมัน เมล็ดสีดำมีร่องตามแนวยาว
ส่วนที่ใช้ประโยชน์
ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด
ผลสุก เป็นผลไม้กินเล่นของเด็กๆ
KROOWIN
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://plugmet.orgfree.com/flora_c-2.htm
http://www.oknation.net/blog/chabatani/2011/03/24/entry-1
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
|