ตำนานถ้ำเขาปินะ
ตำนานถ้ำเขาปินะ
ประวัติตามตำนานก่อนมีการบันทึก

          เขาปินะ เป็นภูเขาหินปูน สูงประมาณ ๑๐๐ เมตร สัญฐานเป็นรูปกลม คล้ายไข่วางบนพื้นตามระดับแนวนอน มีถนนลาดยางโดยรอบเชิงเขาระยะทางประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่อยู่ในท้องที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลนาวง
           ในสมัยโบราณบริเวณเขาปินะนั้นน่าจะเป็นที่ราบไปจดทะเล เพราะถ้าขึ้นไปยืนบนถ้ะมะขาม ถ้ำจำปา หรือถ้ำล่องลมมองไปจะเห็นทัศนียภาพเบื้องหน้าเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ และคงมีป่าชายเลนมาจรดเชิงเขา
           ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร มีภูเขาลูกเล็ก ๆ อีกลูกหนึ่งชื่อ "เขาสำเภาเทิน" ซึ่งมีประวัติเล่ากันต่อๆ มาว่าครั้งหนึ่งพวกแขกไทรบุรีเดินเรือมาค้าขายชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านมาถึงถิ่นนี้เผอิญถูกมรสุมเรือแตก ผู้รอดตายพากันว่ายน้ำขึ้นฝั่งใกล้เนินเขาลูกหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า "เขาสำเภาเทิน" ยึดอาชีพทำไร่ ทำนา หากิน พอประทังชีวิต รอกพวกพ้องที่แล่นเรือผ่านไปมาเพื่อจะขออาศัยเดินทางกลับบ้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามีเรือแล่นผ่านมาเลย คนพวกนี้จึงต้องอาศัยที่นี่ต่อมาอีกนาน เกิดลูกเกิดหลานเป็นชุมชนย่อย ๆ นานวันเข้าก็มีพื้นที่ทำกินกว้างออกไปรอบเขาลูกนี้ ลูกหลานก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงต้องคิดขยับขยายถิ่นฐานที่ทำมาหากินออกไป พวกหนึ่งได้แยกย้ายมาอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่ง ใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้อยต่าง ๆ เรียกเขาลูกนี้ว่า "เขาปินะ" ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า โยกย้าย
           ต่อมาอีกหลายสิบปีก็มีลูกหลานเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจึงได้ตั้งหัวหน้าขึ้นคนหนึ่งช่อ "โต๊ะมูล" ได้สร้างสุเหร่าไว้ในหมู่บ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจ โต๊ะมูลมีพื้นที่กว้างขวางออกไป และในปัจจุบันนี้ยังมีชื่อเรียกกันอยู่ว่า "บ้านนาโต๊ะมูล" ตามชื่อเจ้าของเดิม ในระหว่างนั้นมีคนไทยพุทธอยู่น้อย ครั้นต่อมามีคนไทยมาทำมาหากินมากขึ้นทุกที จนคนแขกที่อยู่เดิมต้องถอยที่ออกไป จนหมดหรือสาปสูญไป ชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนของไทยพุทธแต่นั้นมา
 
ประวัติที่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน
           ในปีพ.ศ. ๒๓๕๕ พระอุทัยราชธานี เจ้าเมืองตรัง ได้จัดระบบการปกครองเมืองตรังเป็นสัดส่วน ได้จัดให้พื้นที่ตำบลนี้ขึ้นกับอำเภอเขาขาว(อำเภอห้วยยอดในปัจจุบัน) ท่านเจ้าเมืองตั้งให้ขุนไกรเป็นผู้จัดการปกครองในละแวกตำบลนี้ตลอดถึงเขาปินะ ให้จัดการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป โดบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ให้มีสภาพดีขึ้น
ขุนไกรท่านนี้มีเกร็ดประวัติส่วนตัวพอจะเล่าพอจะเล่าได้ว่า "เดิมท่านเป็นเด็กกำพร้ามาจากจังหวัดพัทลุง ในย่านนั้นเกิดการขาดแคลนอดอยาก ท่านจึงแม่เลี้ยงกดขี่ทรมานให้อดข้าว ท่านทนต่อการถูกทรมานไม่ไหวจึงหนีออกจากบ้านมาทางจังหวัดตรัง เดินป่ามาเรื่อยๆโดยไม่มีจุดหมาย กลางคืนนอนกลาง กลางวันออกเดินทางพร้อมหาอาหารกินมาเรื่อยๆ ตามที่พอจะหาได้ จนกระทั่งมาถึงบ้านหนองปลาดุก ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท่าสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรังในปัจจุบัน ได้หลบอาศัยอยู่ริมไร่ของตาสีดึง และยายทรัพย์ซึ่งทำไร่ปลูกข้าวโพด เมื่อตกเย็นตาสาสีดึงกับยายทรัพย์กลับบ้าน ขุนไกรจึงออกไปหักข้าวโพดมากิน ทำอย่างนี้อยู่อย่างนี้หลายวัน ตากับยายสังเกตเห็นข้าวโพดถูกหักจึงแอบดู ได้เห็นขุนไกรออกมาขโมยหักข้างโพดกันด้วยความหิวจึงจับได้และนำมาเลี้ยงไว้ ให้การเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ในเวลาต่อมา"
          ครั้นถึงสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี มาเป็นเจ้าเมืองตรัง ท่านได้มาเห็นสถานที่สวยงามเหมาะสมที่จะปรับปรุงให้มีสภาพที่ดีขึ้น จึงสั่งการให้ หลวงนครกิจจิตบำรุงนายอำเภอเขาขาวสมัยนั้น(อำเภอห้วยยอด) ปรับปรุงตกแต่งสถานที่ตัดถนนจากห้วยยอดตรงไปยังเขาปินะ
           ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระสถลสถานบริรักษ์ (คอยูเคียด ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังสมัยนั้น ได้ทำนุบำรุงด้านต่างๆ มากมายเต็มความสามารถและได้มีเจ้านาย เชื้อพระวงศ์และพระมหากษัตริย์ของไทยได้เสด็จประพาสถึง ๒ พระองค์ ซึ่งมีหลักฐานเป็นจดหมายเหตุ และสลักพระอักษรไว้ที่ผนังถ้ำมะขาม
            บันทึกการเสด็จประพาสของเชื้อพระวงศ์และสมเด็จพระมหากษัตริย์
ณ ถ้ำเขาปินะแห่งนี้มีเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ และพระมหากษัตริย์ ได้เคยมาเยี่ยมและเสด็จประพาสทั้งสิ้น ๔ ครั้ง ดังนี้
         
            ครั้งที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตามบันทึกในจดหมายเหตุ "หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)" ซึ่งได้บันทึกการเสด็จประพาสถ้ำเขาปินะดังนี้
           "...เสาร์ ๓๑ พฤษ ๑๒๑ ...เวลา ๒.๔๕ ขึ้นช้างพลายวัง เดินตามทางธรรมดาซึ่งตกแต่งฟันไม้ข้างทางเล็กน้อยไปทางทิศพายัพ ทางเปนป่าแดงมีไร่ร้างสองแห่ง ๒.๕๐ ตกตทุ่งนาฝ่าข้ามไป ๕ นาฑี เข้าหมู่ไม้ชายคลอง ข้ามคลองไปขึ้นฟากโน้นเป็นทุ่งนาอีก ผ่าไปอีก ๕ นาที เข้าป่าแดง ๕ นาที ออกทุ่งนาอีก ๓ นาที เข้าป่าแดงอีก ๓.๑๕ พบบ้านมีสวนติดแห่งหนึ่ง ๓.๓๕ ข้ามนาร้าง เวลา ๓.๔๐ ถึงเขาปิหนา พระสถลมาจัดที่พักรับ ลงช้างขึ้นไปดูถ้ำเขาปิหนา เปนถ้ำอยู่สูงงดงามน่าดูมาก ทำนองถ้ำเหมือนห้องเรีอน กลางเป็นห้องใหญ่ แสงสว่างข้างบนไม่มี มีเป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ช่องประตูต่างหาก แสงสว่างเข้าข้างตามช่องหน้าต่าง โผล่ออกไปยังมีเบลคอนีอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนมีเขาเงื้อมปกเป็นบังสาดงามที่สุด มีหลายช่อง ถ้ำเตียนสะอาดไม่เปรอะเปื้อนเพราะมีพระอยู่ในถ้ำนี้ แกแผ้วกวาดไว้เรียม พระพวกนี้ต้องตามพระบาลีว่าเป็นอรัญกะ มี ๙ องค์ด้วยกัน ทำอรัญกุฏีพอจุตัวนอนอยู่ตามเบลคอนี กุฎีทำลดหลั่นชั้นเชิงเข้าที่ด้วย แต่ล้วนพาดพิงตามก้อนหิน มีแคร่นั่งเล่นลดหลั่นตามชั้นหิน บางทียื่นออกไปที่หน้าผาขารอดเอาหินทับไว้มีสพานสำหรับจงกรม ต่อจากกุฏีท่านอาจารย์ซึ่งปลูกไว้ในก้อนหินในเบลคอนี ท่านอาจารย์เปนคนแก่ที่จะเปนอาจารย์ภาวนาดี ทางที่ลงน่าดูพิฤก เขาเดิมมันเป็นช่องประตู มีเบลคอนีซ้อน ๒ ชั้น มีช่องล่องถุนทลุถึงกัน ชั้นบนมีแลนดิงหินเดิม ๒ ชั้น ชั้นล่างพระแกทำแคร่ไม้ไผ่เป็น ๓ ชั้น อย่างแลนดิงกระไดฝรั้งต่อเข้า ทำกระไดไม้ผูกสับแสกลงมาเป็นชั้นๆ ตามแลนดิงบันไดที่เป็นหินเดิม ชั้นหนึ่งได้ปั้นพระนั่งไว้หลายองค์ ชั้นหนึ่งก่อพระเจดีย์ไว้ มีกุฎิเล็กปลูกไว้ตามแลนดิงด้วย แคร่นั่งมีทั่วไป และมักมีชั้นไหว้พระติดไว้กับแคร่เห็นจะเป็นที่ไหว้พระภาวนา มีเจ็กและไทยมาอาไศรยอยู่ที่แคร่แลนดิง ได้ความว่าเป็นคนเดินทางมาอาไศรย เชิงเขามีกุฎิหมู่หนึ่งด้วย มีสพานจงกรมเหมือนกัน ที่ใกล้เขามีนามีไร่ มีชาวบ้านมาดูเราหลายคน..."

           ครั้งที่ ๒ การเด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมัยดำรงพระยศเป็น พระบรมโอรสาธิราช ตามบันทึกในจดหมายเหตุเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ของนายแก้ว ร.ศ. ๑๒๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๒) ซึ่งได้บันทึกไว้ดังนี้
           "....เมื่อเช้านี้เวลา ๔ โมงเศษ เสด็จออกจากพลับพลาโดยรถยนต์ แล่นไปพ้นพลับพลาได้ประมาณ ๑๕ เส้น ถึงทาง ๒ แพรก แพรกขวาไปกะปาง รถที่นั่งไปทางแพรกซ้าย ทางไปในป่าเป็นพื้น แต่ได้ผ่านนาและไร่เป็นแห่ง ๆ ไป ทางนับว่าเป็นอย่างราบ ดินตามแถบนี้เป็นดินสอ คือสีขาวเป็นพื้น แต่บางแห่งก็มีสีแดงจัด ดูราวกับพลัดพวกอยู่ในท่ามกลางดินขาว เพราะเหตุที่เขาเป็นดินสอเช่นนี้ จึงเรียกนามว่า เขาขาวไปจากพลับพลาได้ประมาณ ๒๖๐ เส้น ถึงทาง ๒ แพรก อีกแพรกขวาไปท่ามะพร้าวและทะเลสองห้อง วันนี้เสด็จต่อไปทางแพรกซ้าย อีกประมาณ ๖๐ เส้น ก็ถึงควนท่าลูน เสด็จลงจากรถทรงเก้าอี้ต่อไป เพราะถนนตั้งแต่ที่นี่ไปยังทำไม่แล้วดี คือต้องบากเขา เดินไปตามริมคลองคล้าย ๆ ถนนที่โต๊ะลูลุด อันที่จริงถ้ารถจะไปจริงก็ได้เพราะถนนกว้างพอ แต่เจ้าคุณเทศายังไม่ไว้ใจจึงให้ทรงเก้าอี้ดีกว่า พอพ้นที่เขานั้นไปแล้ว ถนนตัดไปในป่ายางเป็นเส้นคู่ไปกับคลองเกือบตลอด จนถึงท่าประดู่ ข้ามคลองโดยตะพานซึ่งทำไว้ชั่วคราวก่อน ต่อไปจึงจะทำตะพานมั่นคงขึ้น ตรงนี้ผมถามเจ้าคุณเทศาว่า ทำไมไม่ทำตะพานเสียที่ท่าลูน จะได้ไม่ต้องบากเขาทำถนนเสียให้ลำบาก ท่านชี้แจงว่า ถ้าทำที่ท่าลูนตะพานคงจะอยู่ได้ไม่ยั่งยืน เพราะในฤดูน้ำขอนลอยมาตามน้ำจะติดเสาตะพาน ทำอันตรายแก่ตะพานได้มาก จึงต้องทำที่ท่าประดู่ ซึ่งมีบ้านคนอยู่มาก จะได้อาศัยคนคอยดูคัดขอนไม้ให้หลุดจากตะพานไปเสียได้  พอข้ามคลองไปขึ้นท่าประดู่ได้แล้ว ถนนตัดไปในทุ่งแลเห็นนาอยู่มาก ไปไม่ช้าก็แลเห็นเขาปินะเด่นอยู่กลางทุ่งราวกับใครแกล้งยกเอามาตั้งไว้ เขานี้เป็นเขาศิลา หน้าตัดตรง ๆ ลงหาพื้นดิน ที่หน้าผามีช่องราวกับหน้าต่างในป้อม เดินทางจากท่าประดู่ไปได้ไม่ช้าก็ถึงหน้าถ้ำ รวมระยะทางตั้งแต่พลับพลาเขาขาวไป ๔๑๒ เส้น  ปากถ้ำนั้นอยู่สูงจากพื้นดินมาก แต่มีบันไดแข็งแรงขึ้นไป ขึ้นไปถึงพื้นไม้เสียชั้นหนึ่งก่อน ที่นี่มาหลังคาทำเป็นศาลาที่พัก พระวัดนี้ใช้เป็นหอฉัน ขึ้นบันไดไปถึงพื้นไม้อีกชั้นหนึ่งซึ่งใช้เป็นวิหาร มีพระพุทธรูปเป็นพระประทานตั้งไว้อยู่ข้างหนึ่งกับมีกุฏเล็ก ๆ ซึ่งพระเณรใช้เป็นที่จำวัด ในเวลานี้ มีพระ ๘ รูป เณร ๙ รูป แต่ไม่ได้มีอยู่มากเช่นนี้เสมอ ไป ๆ มา ๆ ขึ้นบันไดต่อจากวิหารนี้เป็นช่องทางขึ้นไป ถึงตัวถ้ำใหญ่อันเป็นที่ควรดู มีศิลาปูนย้อยมาจากเพดานถ้ำ จนเป็นประดุจเสาค้ำเพดานก็มี ที่ดูประดุจสาหร่ายก็มี นับเป็นถ้ำน่าดูได้แห่งหนึ่ง แต่ที่เก่งที่สุดคือ ออกไปโผล่ดูตามช่องคูหาที่หน้าผา แลดูออกไปข้างนอกเห็นได้ไกลดีจริง ๆ เพราะหน้าผาตัดตรงลงไปหาพื้น ไม่มีอะไรมาบังข้างหน้าเลย รู้สึกเหมือนขึ้นไปดูบนหอคอย การที่ได้ดูภูมิประเทศได้ไกลและกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้เป็นที่เพลิดเพลินใจ ทำให้รู้สึกว่าการไปถ้ำเขาปินะนี้ ไม่เสียเวลาเปล่า ถึงภายในถ้ำจะไม่งามเหมือนถ้ำในเขตพังงา ก็ได้เปรียบทางที่มีช่องคูหาที่เยี่ยมดูภูมิประเทศได้เช่นนี้  ได้ประทับเสวยในปากปล่องอันหนึ่งในถ้ำนั้น ลมโกรกเย็นสบายจนออกจะง่วง ๆ ...."

          ครั้งที่ ๓ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ได้มาเยี่ยมชมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้บันทึกชื่อพร้อมวัน เดือน ปี ที่ได้มาเยี่ยมไว้ที่ผนังถ้ำขามไว้เป็นหลักฐาน

          ครั้งที่ ๔ พระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอญุ่หัว ได้เสด็จประพาสเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๑ ได้ประทับเสวย ณ ถ้ำจำปา และมีการสลักพระปรมาภิไธยย่อ "ป.ป.ร." ไว้ที่ผนังถ้ำเป็นหลักฐานไว้ด้วย

          จากบันทึกจดหมายเหตุทั้งสองฉบับที่กล่าวแล้วข้างต้นทำให้ทราบว่าเดิมถ้ำเขาปินะมีสภาพที่าวยงามมากและมีจุดเด่นที่มีช่องเปรียบประตูและหน้าต่างหอคอยผิดกับสภาพปัจจุบันที่ความสวยงามได้ถูกทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนรุ่นหลัง

เขาปินะในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว
           อำเภอห้วยยอดมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง เช่นทะเลสองห้อง ตำบลบางดี ถ้ำพระตำบลหนองบัว ถ้ำพระพุทธโกษีย์ ตำบลในเตา ถ้ำเขาปินะ ตำบลนาวง และสถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่ล่สุดและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป คือ ถ้ำเลเขากอบ ตำบลเขากอบ สำหระบถ้ำเขาปินะแห่งนี้นั้น นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่งดงามแล้วยังเป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดีอีกด้วย เขาปินะเป็นภูเขาที่มีภูมิทัศน์งดงาม ภายในเขามีถ้ำหลายถ้ำที่มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น เพราะถ้ำโดยทั่วไปจะมีเฉพาะทางเข้าข้างในจะมืดสนิท แต่ถ้ำเขาปินะภายในเป็นซอกเป็นโพรงเดินได้ทะลุติดต่อถึงกัน และทะลุออกหน้าผาชันหลายช่อง คล้ายช่องหน้าต่าง ประตูหอคอย บางช่องสูงจากระดับพื้นดินเชิงเขากว่า ๔๐ เมตร ทุกช่องมีลมพัดโกรกเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนถ้ำที่ไม่มีช่องลม นับถ้ำเหล่านี้ได้ทั้งหมด ๘ ถ้ำ ดังนี้

ถ้ำพระ
           ถ้ำพระขึ้นจากพื้นล่างตามบันไดหินประมาณ ๑๖ ขั้น ชั้นเป็นลานปูน มีโต๊ะและม้านั่งสำหรับพักผ่อน ขึ้นบันไดทางซ้ายมือไปตามซอกหลืบเขาแคบ ๆ สองสามครั้งถึงถ้ำพระ พื้นลาดปูนเรียบ ลักษณะถ้ำเป็นโพรงมาจากหน้าผา มีความกว้างและลึกจุคนได้ประมาณ ๑๐ - ๑๕ คน หน้าผาสูงจากพื้นล่างประมาณ ๑๕ เมตร ด้านในมีศาลาเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ๕ องค์ องค์กลางใหญ่ที่สุด ชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปเหล่านี้มีประวัติว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่มีการสร้างพระบรมธาตเมืองนครศรีธรรมราช พวกแขกไทรบุรีมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้เดินทางโดยเรือมาถึงตำบลนี้ก็ได้ทราบข่าวว่า พระบรมธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว จึงหยุดพักแรมที่บริเวณเขาปินะนี้ และได้ร่วมแรงร่วมใจำกันสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๔ องค์ พร้อมทั้งบรรจุเงินทองไว้ภายในเพื่อเป็นพุทธบูชา
           จากการบอกเล่าของนายเดชคีรีรักษ์ ซึ่งได้ทราบมาจากนายคง จันทร์คีรีรักษ์ ผู้เป็นพ่อ และ ขุนนัยนาปะยา ผู้เป็นอา ว่า พระพุทธรูปเหล่านี้เดิมมีเพียงองค์เดียว คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือองค์กลาง ทางด้านใต้มีซากพระพุทธรูปอยู่ ๒ องค์ และทางด้านเหนืออีก ๑ องค์ ยังคงแต่ฐานอาสน์พระไม่มีองค์อยู่ ครั้นถึงสมัยขุนไกร คนใช้คนหนึ่งของพระอุทัยราชธานี ได้ทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ที่หักพังอยู่ให้มีสภาพสมบูรณ์ และได้สร้างเพ่ิมอีก ๑ องค์ รวมเป็น ๕ องค์
            ในถ้ำพระทางผนังอีกด้านหนึ่ง มีรูปปั้นคนขนาดใหญากว่าคนธรรมดา ลักษณะเป็นคนแก้ร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน นุ่งผ้าพื้นธรรมดา ถือไม้ตะบองยาวเกือบ ๒ เมตร ไม่สวมเสื้อมีผ้าห้อยบ่า ผิดเนื้อดำแดง นั่งห้อยเท้าอยู่บนแท่นหิน ท่านคือ "ปู้จ้าวเขาปินะ" รูปปั้นนี้ปั้นนี้ปั้นขึ้นตามลักษณะในนิมิตอขงพระปลัดนิมิตร สุมงฺคะโล พระผู้พัฒนาถ้ำเขาปินะแห่งนี้ และตั้งชื่อว่า "ปู้จ้าวเขาปินะ อัชฌาวงศ์"

ถ้ำเจดีย์
          ถ้ำเจดีย์นี้อยู่จากถ้ำพระขึ้นไปตามบันไดปูน วกหักสองเลี้ยวผ่านซอกเขาแคบก็ถึงถ้ำ แต่ไม่น่าจะเรียกว่าถ้ำ เพราะมีลักษณะเป็นเว้าเวิ้งเข้ามา ในหุบผาลึกพอสมควร มีพื้นที่ประมาณ ๑๕ ตารางเมตร เจดีย์ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายบุษบก เป็นของเก่า ที่ฐานเจดีย์มีคำบันทึกว่า บรรจุอัฐิขุนไกร ต้นตระกูลกตัญญู อีกด้านหนึ่งมีรูปปั้นเท่าคนจริง เป็นรูปขุนนัยนาปะยา ยืนแต่งตัวเต็มยศ ติดเหรียญตรา นุ่งผ้าม่วงแบบข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ บนเพดานมีหินย้อยเป็นงวงลงมา ทำให้เป็นช่องหน้าผา ถ้ำนี้ไม่ค่อยมีอะไรน่าชมนัก

ถ้ำล่องลม
           ถ้ำล่องลม ขึ้นบันไดต่อจากถ้ำเจดีย์ไปอีก ๕ ตอน หักเลี้ยวเข้าช่องเขามืดทางด้านขวามือ มีช่องลมคล้ายอุโมงค์ กว้างประมาณ ๓ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ทะลุออกหน้าผาชันสูงจากืพ้นดินเชิงเขาประมาณ ๑๕ เมตรเศษ ลมพัดเย็นสบาย ชมทิวทัศน์เบื้องล่างได้ชัดเจน ถอยห่างจากโพรงหินตรงไปตามซอกมืด พื้นเป็นเดินดินเรียบลงถึงห้องโถงกว้างใหญ่ หลังคาเพดานถ้ำโค้งคล้ายกูบบนหลังช้าง ชาวบ้านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ถ้ำโกบ" ตามผนังถ้ำมีหินย้อย และช่องถ้ำเล็ก ๆ มืดอีกหลายช่อง มองเห็นได้จากแสงที่สาดส่อง ลานนี้จุคนได้จำนวนมาก เวลามีงานวัดบางครั้งก็มีการนำภาพยนตร์มาฉายที่ถ้ำนี้ในตอนกลางวัน ผนังด้านหนึ่งมีหินเป็นก้อน ๆ เกือบกลมมน เวลาตีจะมีเสียงดังตุมตุม ก้องกังวาลคล้ายเสียงกลองเพล ภายในหินคงจะมีช่องกลวงเวลาตีจึงมีเสียงดัง ภายในถ้ำตรงนี้มีลมพัดโกรกพอบรรเทาความอบอ้าวได้ เพราะมีช่องโพรงออกข้างนอกรับแสงสว่างและลมเข้ามาได้

ถ้ำจำปา
           ถ้ำจำปา อยู่ต่อจากถ้ำล่องลมขึ้นไปตามทางดินที่สับเป็นขั้น ๆ มีน้ำชื้อแฉะเล็กน้อย มีหินย้อยลงมาจรดพื้นคล้ายเสาท้องพระโรงหลายแห่ง ทำให้เกิดเป็นห้องหับใหญ่น้อย ตรงเพดานมีหินย้อยเป็นพวงใหญ่คล้ายโคมระย้า บางแห่งงอกขึ้นจากพื้นจดกันกับหินที่ย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ มีน้ำไหลลงมาบนพื้นจนกลายเป็นสายน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลลงสู่แอ่งน้ำใหญ่น้อย หินย้อยบางแห่งย้อยลงมาเป็นเกลียวคล้ายเส้นเชือกหรือรากไม้ ด้านใต้มีแอ่งน้ำคอยรับน้ำหยดอยู่ตลอดเวลา ภายในอากาศโปร่งเย็นสบาย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สมัย ดำรงค์พระอริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เสด็จประพาสและประทับเสวยพระกระยาหาร ณ ถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ถ้ำเสวย" อีกชื่อหนึ่ง

ถ้ำหอยโข่ง
          ถ้ำหอยโข่ง ต่อจากถ้ำจำปาขึ้นไปตามทางดิน ตรงปากถ้ำมีพระปรมาภิไธยย่อ "ป.ป.ร." ๑๐/๑๐/๗๑ อยู่ที่ผนังถ้ำ ทางเข้ามีหินย้อยขนาดใหญ่ลงจรดพื้น มีเปลืกหอยโข่งใหญ่น้อยเกลื่อนตามพื้นถ้ำ และติดอยู่กับผนังหิน สัณนัษฐานว่าพวกแขกโบราณที่เรือแตกขึ้นมาอาศัยถ้ำนี้ หาอาหารเท่าที่จะหาได้เพื่อยังชีพ โดยเฉพาะพวกปลาและหอย เศษอาหารอย่างย่อยปุเปื่อยไปตามกาลเวลา แต่เปลือกหอยยังคงเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี เดิมเขาลูกนี้คงจะอยู่ใกล้ทะเลมาก ทั้งยังมีหลักฐานยืนยันว่าเคยขุดพบสมอเรือโบราณ ในทุ่งบริเวณเขาลูกนี้ หรืออีกนัยหนึ่งความกว้างของลำน้ำในสมัยโบราณคงแผ่ขยายมาจรดตีนเขา และมีธารลำน้ำไหลลงสูงแม่น้ำ ภายในถ้ำมีแอ่งน้ำพอที่พวกหอยอาศัยอยู่ได้ ซากเปลือกหอยจึงมีหลงเหลือให้เห็นในชั้นของหินตามพื้นและผนังถ้ำทั่วไป
อีกด้านหนึ่งจากถ้ำจำปามาทางทิศเหนือ เป็นพื้นดินมีน้ำแฉะไหลริน ลื่นมาก เป็นช่องลึกเข้าไปข้างในมืด เมื่อฉายไฟดูรอบ ๆ เต็มไปด้วยหินย้อยใหญ่น้อย มีน้ำหยดต้องแสงไฟระยิบระยับ หินย้อยตามเพดานหลายแห่งมีลักษณะคล้ายกระเช้าดอกไม้ ด้านหนึ่งของถ้ำมีต้นมะขามใหญ่ ถ้ำนี้จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ถ้ำมะขาม"

ถ้ำกระดูก
           ถ้ำกระดูก ถ้ำนี้ไม่ค่อยมีผู้ปไชมนัก อยู่ทางซ้ายมือของถ้ำพระ เดินอ้อมมุขเขาไปประมาณ ๔๐ เมตร เป็นถ้ำเล็กมีแสงสลัว ๆ เมื่อนึกถึชื่อถ้ำแล้วทำให้เกิดอุปาทานว่า ที่นี่มีบรรยากาศเยือกเย็นวังเวง เพราะภายในถ้ำมีกองกระดูกต่าง ๆ ของคนโบราณอยู่ตามพื้น และพิงผนังไว้ก็มี มีหม้อดินใส่กระดูกหลายใบตั้งเรียงรายใกล้ ๆ กัน หัวกะโหลก กระดูกแขนขาชั้นใหญ่ ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เป็นกระดูกคนโบราณแน่ ทั้งนี้เพราะแต่ละชิ้นเมื่อเปรียบเทียบกับของคนเราปัจจุบันแล้ว กระดูกเหล่านั้นใหญ่กว่ามาก ภายในถ้ำมีรูปปั้นพระฤาษี

ถ้ำน้ำ
          ถ้ำน้ำ ต่อจากถ้ำกระดูกไปเล็กน้อย เป็นถ้ำเล็กภายในถ้ำคับแคบเกะกะไปดวยหินงอกหินย้อย ดูแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง ดูคล้ายห้องเล็กห้องใหญ่ทั่วไป บางช่องคนลอดไม่ได้ แสงสว่างมีน้อย อากาศชื้น ๆ ตามพื้นมีน้ำไหลทั่วไป ในระหว่างฤดูน้ำและฤดูฝนภายในน้ำท่วมหรือแฉะตลอด ในฤดุแล้งพื้นดินจึงแห้งเหลือแต่ความชื้น ถ้ำนี้ไม่ค่อยมีผู้มาชม จึงเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่ของพวกปลาและสัตว์หลายชนิด คนที่นั่นบอกว่าสัตว์จำพวกนี้มีมากมายไม่เหมาะสำหรับคนไปชม

เขาปินะจากอดีตถึงปัจจุบันสู่อนาคต
           ในอดีตเขาปินะน่าจะเป็นชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน เพราะที่ราบลุ่มแม่น้ำตรังที่มีความเป็นมาน่าศึกษา อีกทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามแม้แต่เจ้านายเชื้อพระวงศ์และพระมหากษัตริย์ยังชื่นชมในความสวยงามตามธรรมชาติ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปโดยลำดับ ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลนาวง แต่การพัฒนาเป็นดาบสองคม คือทำให้บริเวณมีความสะดวกสบายขึ้น แต่พัฒนาโดยรู้เท่าไม่ถึงกลาลก็จะทำให้ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติไปอย่างน่าเสียดาย

เอกสารอ้างอิง
นายแก้ว, นามแฝง เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ "จดหมายเหตุ" กรุงเทพฯ
:โรงพิมพ์มหามกุฏวิทยาลัย, ๒๕๐๒
จดหมายเหตุ : หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
จุลสาร พิมพ์เพื่อเผยแพร่สนับสนุนการท่องเที่ยว เชิงสารคดี ของอำเภอ ห้วยยอด จังหวัด ตรัง