ตำนานวัดหูแกง
|
 |
วัดหูแกงตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ คำบลนาวง อำเภอ ห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นวัดโบราณที่สร้างมานานหลายร้อยปีแล้ว ตามหลักฐานทางราชการวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ โดยหลวงไชยพลเดช บนเนื้อที่ ๖๙๕ ไร่ ๓ งาน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ขนาด กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยมีเจ้าอาวาสจนถึงปัจุบัน ดังนี้ ๑. พระอธิการคงแก้ว พ.ศ. ๒๓๑๙ - พ.ศ. ๒๓๕๐ ๒. พระอธิการจันทร์แก้ว พ.ศ. ๒๓๕๐ - พ.ศ. ๒๓๖๑ ๓. พระฉ่ำ ยโสธโร พ.ศ. ๒๔๗๙ - พ.ศ. ๒๔๘๐ ๔. พระคง พ.ศ. ๒๔๘๐ - พ.ศ. ๒๔๘๑ ๕. พระสงคราม พ.ศ. ๒๕๑๒ - พ.ศ. ๒๕๑๓ ๖. พระข้อง พ.ศ. ๒๕๑๓ - พ.ศ. ๒๕๒๓ ๗. พระครูอรรถศาสนวิจิตร(พระมหาจัด) พ.ศ. ๒๕๒๓ - พ.ศ. ๒๕๓๙ ๘. พระอาจารย์สุวรรณ กิตติวฺณโน พ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน
แต่ในสภาพความเป็นจริงวัดหูแกงหรือที่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า "วัดชายคลอง" เป็นวัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำเป็นระยะๆ เช่นในช่วงระยะเวลาหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมากจะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เลยจึงต้องให้เจ้าคณะอำเภอห้วยยอดรักษาการเจ้าอาวาสเพื่อรักษาสภาพความเป็นวัดเอาไว้ และบางครั้งมีพระสงฆ์สายอรัญญวาสีได้เดินธุดงค์ปักกลดอยู่เป็นประจำแต่ก็ไม่พระสงฆ์องค์ใดคิดที่จะอยู่เป็นประจำและจากหลักฐานของสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอห้วยยอดได้สำรวจสภาพวัดหูแกงครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔พบแต่ซากโบราณสถานที่พังทลายมีสภาพ ดังนี้ ๑. เสาหงส์ จำนวน ๑ คู่ มีขนาดสูงใหญ่อยู่ในสภาพทรุกโทรม ๒. อุโบสถหลังคามุงกระเบื้อง ฐานก่ออิฐถือปูน พระพุทธรูปในอุโบสถมีทั้งที่ประทับยืนและนั่งมีทั้งหมดจำนวน ๔ องค์ แต่ส่วนประกอบปูนปั้นพระพุทธรูป คละเคล้ากันอยู่กันเศษกระเบื้องมุงหลังคาเศษอิฐและกรวดทราย ไม่มีสภาพเดิมให้เห็น เสาอุโบสถเป็นไม้สี่เหลี่ยมขนาดเขื่อง และพบพัทธสีมาครบทั้งหมด ๓. ในถ้ำใกล้ๆวัด พบซากพระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์แต่ถูกทำลายจากพวกเล่นพระเครื่องและพวกหาของมีค่า ๔. ที่ธรณีสงฆ์ถูกบุกรุกแผ้วถางทำสวนยางพาราจนเหลือพื้นที่ไม่มากนัก ประวัติการตั้งวัดได้เล่าสืบต่อๆกันมาว่าสมัยก่อนประมาณ ๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว แม่น้ำตรัง(คลองท่าประดู่)เดิมเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่สามารถล่องเรือขนสินค้าไปขายทางด้านฝั่งอ่าวไทยได้ แต่ไม่สามารถที่จะเดินทางได้ตลอดปีเพราะช่วงหน้าแล้งน้ำน้อยไม่สามารถเดินทางไปได้ตลอด โดยเฉพาะที่วัดหูแกงจะมีแก่งหินขนาดใหญ่ขวางลำแม่น้ำอยู่ทำให้ต้องตั้งที่พักชั่วคราวรอให้มีน้ำมากขึ้นจึงจะล่องเรือต่อไปได้ ซึงก็ใช้เวลาหลายเดือนอยู่กว่าจะล่องเรือต่อไปได้ จึงเกิดชุมชนขึ้น ณ บริเวณนี้ เมื่อเกิดชุมชนซึ่งเป็นชุมชนชาวพุทธ จึงได้สร้างวัดขึ้นมาเพื่อได้ทำศาสนกิจ และเรียกชื่อว่าวัด "หัวแก่ง" ตามลักษณะลำน้ำที่เป็นแก่ง ต่อมาการเรียกขานชื่อวัดเพี้ยนไปเป็นวัด "หูแกง" แต่มีบางส่วนเรียกชื่อวัดว่า "วัดชายคลอง" ก็มี ในบริเวณนี้มีท่าดูดทรายจากลำคลองเพื่อจำหน่าย มีการพบถ้วยชามสมัยราชวงศ์เหม็งจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรด้วย จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนนี้เกิดขึ้นตรงกับราชวงศ์เหม็งของจีน และมีการติดต่อค้าขายระหว่างกันโดยใช้ลำแม่น้ำตรัง(คลองท่าประดู่) เป็นทางขนส่งสินค้า
ย้อนอดีตมองปัจจุบันวัดหูแกง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอจะเชื่อถือได้คือ "หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์" เชื่อได้ว่าวัดหูแกงเป็นวัดขนาดเล็กที่มีมานานแล้ว ด้วยตามบันทึกในจดหมายเหตุระบุว่า โบสถ์วิหาร ชำรุด ทรุดโทรม ใกล้ผุพัง และหลักฐานทางราชการในหนังสือทำเนียบวัดทั่วประเทศ จึงสอดคล้องกับตำนานที่มีคนเล่ากันมาว่าเป็นวัดที่ผู้เดินทางรอล่องเรือผ่านแก่งหินเพื่อขนสินค้าสร้างขึ้นมาเพื่อทำศาสนกิจ วัดจึงไม่ได้ใหญ่โตแต่อย่างใด แต่ในอดีตมีสภาพที่ดีกว่าวัดคีรีวิหาร ปัจจุบันวัด "หูแกง" ได้มีการพัฒนาขึ้นมาใหม เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยพระอาจารย์สุวรรณ กิตติวฺณโน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และได้เปลียนสถานที่ไปตั้งในหุบเขาด้านในซึ่งมีความเงียบสงบ โดยจัดทำเป็นลักษณะคล้ายคลึงกับวัดสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งเน้นด้านการเผยแพร่ธรรมะให้แก่เด็กและเยาวชนเป็นหลัก พระอาจารย์สุวรรณ จึงใช้ชื่อเรียกวัดนี้ ว่า "อาศรมยุวภวัน" ซึ่งตลอดตั้งปีทางวัดมีกิจกรรมที่ดำเนินการตลอดปี ดังน ๑. ใช้เป็นที่อบรมและปฏิบัติของบุคลากรในส่วนราชการต่างๆ ๒. เป็นที่อบรมธรรมะและเข้าค่ายปฏิบัติของนักเรียนทั้งในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง ๓. เป็นสถานที่เข้าค่ายปฏิบัติธรรมของโรงเรียนวิถีพุทธตามโครงการของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔. เป็นสถานที่บวชสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งมีการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี ในอนาคตวัดหูแกง (หรือวัดชายคลอง) ก็คงเป็นสถานที่ฝึกอบรมธรรมะให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไปอีกนาน
เสนาสนะที่มีในปัจจุบัน
๑. ศาลาปฏิบัติ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมตามโครงการต่างๆ ๑ หลัง ๒. กุฎิเจ้าอาวาส ๑ หลัง ๓. กุฏิสงฆ์จำนวน ๔ หลัง ๔. ศาลาที่พักในบริเวณวัด ๑ หลัง (ใช้เป็นที่สนทนาธรรมและอ่านหนังสือธรรมะ) ๕. หอระฆังทำด้วยไม้แบบสวยงาม ๑ หลัง ๖. ศาลาโรงครัว ๑ หลัง
หมายเหตุ วัดนี้ไม่มีการบำเพ็ญกุศลศพดังวัดโดยทั่วไป
อ้างอิง ๑. จุลสารสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอห้วยยอด ๒. ทำเนียบวัดในประเทศไทยเล่ม ๓ ๓. จดหมายเหตุ "หนังสือจดหมายระยะทางไปราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์"
|