ประวัติวัดนาวง
ประวัติวัดนาวง
ที่ตั้ง
           วัดนาวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๑ บ้านนาวง ถนนเพชรเกษม หมู่ที่ ๒ ตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย หนใต้ ภาค ๑๗ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๗๗.๔ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๑๓๘๙ มีอาณาเขต ทิศเนือติดต่อ ถนนเพชรเกษม ทิศใต้จดโรงเรียนวัดนาวง และที่ดินของนางเขียม ฮึ่งฮก ทิศตะวันออกจดที่ดิน ของนางรุ่น ทิศตะวันตกจดทางหลวงท้องถิ่น และมีธรณีสงฆ์อีก ๒ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๔๐ ไร่ เป็นสวนยางพาราและสวนปาล์ม

ประวัติความเป็นมา
           ที่ตั้งวัดเดิมเป็นป่าช้า(สุสาน) ชาวบ้านเรียกกันว่า "ป่าช้าโคกแซะ" ซึ่งปกคลุมไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่รกคลึ้มวังเวงน่ากลัว เป็นเกาะอยู่กลางทุ่งนาเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไรมีทุ่งนาล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน (เป็นที่มาของชื่อ "นาวง") และชาวบ้านลือกันว่าผีดุ เพราะสถานที่วังเวงน่ากลัวได้ยินแต่เสียงจั๊กจั้นเรไรร้องระงมเป็นระยะ ๆ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ ชาวบ้านซึ่งมี นายกลิ้ง สนิทปู่ , นายไข่ กิตติคุณ, นายเกลือน พลเดช และนายหนู เขตตะเคียน ได้ไปนิมนต์พระสงฆ์ จากวัดเขาปินะซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสี(พระป่าหรือพระธุดงค์) ซึ่งประจำอยู่ที่วัดเขาปินะ ได้มีพระรอด วัฒนผล มานั่งแผ่เมตตาโปรดวิญญาณ ณ ที่ป่าช้าแห่งนี้ และเนื่องจากในสมัยนั้นการคมนาคมลำบากถ้าไปทำบุญที่วัดถ้ำเขาปินะก็จะต้องเดินเป็นระยะทางที่ไกลชาวบ้านดังกล่าว จึงได้ร่วมกำลังกันสร้างวัดขึ้นมา ณ บริเวณป่าช้าาแห่งนี้ โดยนิมนต์พระรอด วัฒนผล (พระครูอรรถสารสุนทร) ให้ท่านเป็นผู้นำสร้างวัด และให้ชื่อว่า"วัดนาวง" ตามลักษณะบริเวณที่ตั้งวัด และวัดได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔๗๓ โดยมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ได้ทำการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตรในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๑
เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างและสภาพภายในวัด
          พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบดินเหนียวปนทราย เดิมเป็นเกาะตั้งอยู่กลางทุ่งนา(เป็นมูลเหตุของการตั้งชื่อ"วัดนาวง") ต่อมามีถนนเพชรเกษมตัดผ่านหน้าวัด ภายในวัดมีการปลูกผลไม้ โดยเฉพาะมังคุด มีต้นจากสาคูและปลูกต้นยางพาราไว้ในวัดด้วย(ปัจจุบันทั้งต้นผลไม้และต้นยางพารา ได้โค่นแผ้วถางออกจนหมดแล้ว)เพื่อขยายอาณาเขตทำกิจกรรมภายในวัดให้มากขึ้นและได้สร้างเสนาสนะต่างๆขึ้น ดังนี้
           - พ.ศ. ๒๔๘๒ สร้างศาลาหอฉันโครงไม้ และกุฎีสงฆ์จำนวน ๕ หลัง เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ๔ หลัง, เป็นไม้ทั้งหลังอีก ๑ หลัง (ปัจจุบันไม่มีสภาพเดิมให้เห็นมีที่สร้างขึ้นมาใหม่และปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้นกว่าเดิมเช่น กุฎีของเจ้าอาวาส)
           - พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้างศาลาการเปรียญขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเครื่องบนเป็นไม้ (ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่ดีตามที่ปรากฏในภาพถ่าย)
           - พ.ศ. ๒๕๑๘ สร้างโรงครัวหุงต้ม ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๘ เมตร (ปัจจุบันได้มีการต่อเติมเป็นโรงเลี้ยงอาหารสำหรับการจัดงานฌาปนกิจศพ)
           - สร้างเมรุเผาศพพร้อมศาลาบำเพ็ญกุศลซึ่งใช้จนถึงปัจจุยันนี้
           - ต่อมาได้มีการสร้างเสนาสนะขึ้นอีหลายอย่างที่สำคัญคือศาลาหอฉันหลังใหม่เป็นแบบตึก ๒ ชั้น ซึ่งได้สร้างเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
           - สำหรับปูชนียวัตถุ มีพระประธานปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว, พระพุทธรูแบบเชียงแสน และ พระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่า หน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว ๑ องค์และต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปและรูปหลวงปู้ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประดิษฐานไว้ ณ ศาลาโรงฉันหลังใหม่
           - ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ภายใต้การนำของพระมหานริศ กนตฺวีโร(ปัจจุบันเป็น"พระครูชั้นเอก ที่ "พระครูโกศลวีรธรรม")  เจ้าอาวาสวัดนาวง, พระปลัดบุญชู รองเจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดและพุทธบริษัทอันมี นายกล่ำ ธนะภพ, นายประเสริฐ สิทธิชัย, นายอุดมศักดิ์ สิทธิชัย ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ โดยมีการบูรณะอุโบสถหลังเดิมซึ่งสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบโบราณมีเฉลีงรอบตัวอุโบสถที่สวยงาม ด้วยงบประมาณกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐.- บาท จนสำเร็จเรียบร้อยสวยงาม, นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงศาลาการเปรียญ หอระฆัง ทาสีกำแพงวัดโดยรอบ ซ่อมเมรุใหม่ให้ใช้การได้ดี และได้มีการจัดงานยกช่อฟ้าใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยมี พณฯชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๐ ของไทยเป็นประธานพิธียกช่อฟ้า(ดังปรากฏในภาพ)

ทำเนียบเจ้าอาวาส
          ๑. พระครูอรรถสารสุนทร (พ่อท่านรอด) ชื่อเดิม รอด นามสกุล วัฒนผล ฉายา พุทธสาโร พ.ศ. ๒๔๖๑ - พ.ศ. ๒๕๐๕
          ๒. พระครูวิบูลธรรมโกศล (ชื่อเดิม จัด นามสกุล รอดทุกข์) พ.ศ. ๒๕๐๕ - พ.ศ. ๒๕๔๔
          ๓. พระมหานริศ กฺนตวีโร(พระครูโกศลวีรธรรม) พ.ศ. ๒๕๔๔ - ปัจจุบัน

ด้านการศึกษาและการสนับสนุนการศึกษา
           - ได้ส่งเสริมให้พระสงฆ์เณรได้เรียนพระปริยัติธรรม และเรียนบาลีตลอดจนเรียนทางด้านพุทธศาสนาทั้งในและต่างแระเทศนับได้มากมายหลายร้อยรูป
           - เป็นแหล่งเรียนรุ้ของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนโรงเรียนวัดนาวงได้มาเรียนวิชาพุทธศาสนาทุกวันพฤหัสบดี โดยท่านพระอาจารย์มหานริศ กฺนตวีโร เจ้าอาวาส
           - ทางวัดนาวงได้รักษากฎเกณฑ์ได้ดีเสมอมาทั้งทางด้านพระวินัยของสงฆ์ การปฏิบัติตัวของอุบสกอุบาสิกาและประชาชนโดยทั่วไปที่มาร่วมงานต่างในวัดต้องไม่ดื่มสุรา และเล่นการพนันโดยเด็ดขาดซึ่งในปจจุบันวัดต่างๆได้ละเลยกฏเกณฑ์เหล่านี้เป็น่วนมา
           - ความเชื่อและศรัทธาในท่านพระครูอรรถสารสุนทร(พ่อท่านรอด)เจ้าอาวาสองค์แรกยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ใครคิดทำงานทำการใดๆถ้าไม่ต้องการให้ฝนตกก็จะพากันอธิษฐานต่อท่านและได้ผลอย่างที่อัศจรรย์

แหล่งข้อมูล: หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ ๓ โดยกองพุทธศาสนา กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ หน้า ๑๓๑ - ๑๒๒ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๗
หนังสือทำเนียบห้วยยอด เขียนโดย ส.ต.สนิท พลเดช