โรงเรียนวัดนาวง เดิมชื่อ "โรงเรียนประชาบาลตำบลนาปะยา 1"
เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2481 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ
เดือน 3 ปีขาลผู้ก่อตั้งคือ ขุนนิคมประศาสน์ นายอำเภอเขาขาวในขณะนั้น
ร่วมกับขุนนัยนาปะยา
กำนันตำบลนาปะยา(แยกออกเป็นตำบลบางกุ้ง,ตำบลนาวงและตำบลวังคีรีในสมัยต่อมา)
ได้ชักชวนราษฎรบริจาคทรัพย์สร้างอาคารเรียนแบบ ป. 1 ก. พิเศษ ขนาดกว้าง 8
เมตร ยาว 20 เมตร ในเนื้อที่ดิน 1 ไร่ 1 งาน โดยพระครูอรรถสารสุนทร
เจ้าอาวาสวัดนาวงแบ่งที่ดินวัดให้ (อาคารหลังนี้ได้รื้อถอนไปแล้วเมื่อ พ.ศ.
2522) และได้นำข้อความบางตอนในสมุดหมายเหตุรายวันของ
โรงเรียนเล่มแรกที่ได้บันทึกถึงเหตุการณ์วันทำพิธีเปิดโรงเรียนซึ่งบันทึก
โดย นายภู่ พรหมทอง ครูใหญ่คนแรก ดังนี้
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ วันนี้
เป็นวันกระทำพิธีเปิดโรงเรียนนี้ อันปรากฏนามว่า ประชาบาลตำบลนาปยา๑
ให้เป็นสถานที่ศึกษาประชาบาล ประจำตำบลนาปยา ในการกระทำพิธีเปิดโรงเรียนนี้
ได้มีหลวงวุฒิราษฎร์รักษา ข้าหลวงประจำจังหวัดตรังได้มาเป็นประธาน
พร้อมวิจิตจรรยา ธรรมการจังหวัด มาถึงสถานที่โรงเรียนเวลา ๙.๔๕ น.
ขุนนิคมประศาสน์ นายอำเภอเขาขาว พร้อมด้วยนายจรัล ปสันตา ธรรมการอำเภอ
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตร ตลอดทั้งชาวบ้านราษฎรชาย – หญิง
ประชุมพร้อม ณ สถานที่โรงเรียน เวลา ๑๐.๐๐ น. นายภู่ พรหมทอง
ผู้ซึ่งทางการได้สั่งให้มารับตำแหน่งครูใหญ่ นายล่อง หลิวงโส
รับตำแหน่งครูน้อย ทั้ง ๒ นายได้เลือกนักเรียนที่จะเข้ารับการศึกษา
ตามจำนวนที่อำเภอได้ออกหมายเกณฑ์ ตั้งแถวหน้าโรงเรียน
หันหน้าแถวสู่สถานที่เล่าเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขุนนิคมประศาสน์นายอำเภอ ได้บอกครูนักเรียน กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน,แพทย์,
ที่มากระทำพิธีเปิดหน้าโรงเรียน ทำความเคารพหลวงวุฒิราษฎร์รักษา
ข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้เป็นประธานแล้ว
ได้อ่านรายงานการปลูกสร้างตัวโรงเรียนเสนอ
จบแล้วผู้เป็นประธานได้กล่าวตอบรายงานการปลูกสร้าง
และผู้เป็นประธานได้ชักเชือกเปิดป้ายนามโรงเรียนเป็นประถมฤกษ์
พระสงฆ์สวดยันโตกะถา ในที่ประชุมเปล่งอุทานไชโยประกอบมงคลฤกษ์
ต่อจากนี้ไปครูบอกแถวนักเรียน เข้าประจำห้องเรียนทำการสอนพอเป็นฤกษ์
นับเป็นจบพิธี
กำหนดการกระทำพีเปิดโรงเรียนนี้ ซึ่งทางอำเภอได้กำหนดไว้ดังนี้
กำหนดการกระทำพิธี
เปิดโรงเรียนประชาบาลตำบลนาปยา
ตำบลนาปยา
ในวันที่ ๑ กุมภาพันธุ์ ๒๔๘๑
------------------------
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๑ เวลา ๑๗.๐๐ น.
นิมนต์พระสงฆ์ ๗ รูป มีพระครูอรถสารสุนทร วัดนาวง
เป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ ณ ห้องกลางของสถานที่เล่าเรียน เชิญข้าราชการ
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรประชุมฟังสวด ค่ำมีมะโหรศพหนังตะลุงแสดง ณ
บริเวณโรงเรียนตลอดคืน
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ครูเรียกนักเรียนที่เข้ารับการศึกษามาตั้งแถวหน้าโรงเรียน
หันหน้าสู่สถานที่เล่าเรียน ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎร
รวมทั้งผู้ปกครองนักเรียน ตั้งแถวเรียบร้อยแล้ว เมื่อเชิญประธานไปหน้า ณ
โรงเรียนนั้น ธรรมการอำเภอชักธงไตรรงค์ขึ้นเหนือเสาเรียบร้อยแล้ว
นายอำเภออ่านรายงานการปลูกสร้างโรงเรียนเสนอจบ
ประธานได้กล่าวตอบแล้วผู้เป็นประธานชักเชือกเปิดป้ายนามโรงเรียนออก
พระสงฆ์สวดยันโตกะถา
ครูบอกแถวนักเรียนเดินเข้าสู่ประจำห้องเรียนทำพิธีสอนพอเป็นฤกษ์ เวลา ๑๑.๐๐
น. ถวายอาหารบิณฑบาตเพนแก่พระสงฆ์ ๗ รูป ที่เจริญพระพุทธมนต์แล้ว
เป็นเสร็จพิธี
โรงเรียนนี้
เป็นโรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.
๒๔๘๐ กล่วคือ ดำรงอยู่ด้วยงบประมาณการประถมศึกษาของกระทรวงธรรมการ
นับแต่เงินเดือนครูและค่าใช้สอยในโรงเรียน
ส่วนหลักสูตรการสอนใช้ตามประมวลศึกษาพิเศษภาค ๑ ของกระทรวงธรรมการ
กำหนดการสอนตามรายวิชา รายวัน(ตารางสอน) ระเบียบการเปิด – ปิด
ภาคได้ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ
และประจำจังหวัดได้ดกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาและกฎกระทรวงธรรมการ
ซึ่งออกโดยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินั้นอย่างเช่นโรงเรียนประชาบาลในตำบลอื่น
ทั่วไป
๑. กำหนด ปิด - เปิดภาคเรียนของโรงเรียนประชาบาล
ภาคต้น เปิดเรียนวันที่ ๑ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ปิดเรียนตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน
ภาคกลาง เปิดเรียนวันที่ ๑ ตุลาคม ถึงวันที่ ๑๐ มกราคม ปิดเรียนตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม
ภาคปลาย เปิดวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒ เมษายน ปิดเรียนตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน
๒. กำหนดหยุดเรียนในวันเทศกาลและนักขัตฤกษ์ของโรงเรียนประชาบาล
(๑) วันตรุษสงกรานต์ วันที่ ๓๑ มีนาคม และวันที่ ๑ – ๒ เมษายน ๓ วัน
(๒) วันจักรี วันที่ ๖ เมษายน ๑ วัน
(๓) วันวิสาขบูชา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ และ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ หรือเดือน ๗ ๒ วัน
(๔) วันขอพระราชทานรัฐธรมนูญ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑ วัน
(๕) วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๑ วัน
(๖) วันเข้าพรรษา วันขึ้น ๑๕ และวัน แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ๒ วัน
(๗) วันเฉลิมพระชนม์พรรษา ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๑ วัน
(๘) วันสารทกลางปี (วันสิ้นเดือน ๑๐ ) ๑ วัน
(๙) วันรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ ๙ ถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๓ วัน
(๑๐) วันมาฆบูชา (เพ็ญเดือน ๓ หรือ เดือน ๔ แล้วแต่กรณี) ๑ วัน
(๑๑) เมื่อทางราชการสั่งให้หยุดในวันใด นอกเหนือจากที่กล่าวแล้วก็ให้หยุดด้วย
ปัจจุบันโรงเรียนวัดนาวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลบางกุ้ง
อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ในเขตเทศบาลตำบลนาวง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๑ไร่เศษ
ทำการเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ถึงชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖
ประวัติการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ เริ่มเปิดทำการสอนเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๘๒ อำเภอเขาขาวเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอห้วยยอด แต่โรงเรียนยังคงใช้ชื่อ "ประชาบาลตำบลนาปะยะ ๑" พ.ศ.
๒๔๘๖ - ๒๔๙๐มีการเปลี่ยนชื่อตำบลจากเดิมเป็น ตำบลนาวง
โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อตามชื่อตำบลด้วย คือ "โรงเรียนประชาบาลตำบลนาวง
๒" (โรงเรียนประชาบาลตำบลนาวง ๑ คือโรงเรียนวัดไตรสามัคคีในปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๕ เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนประขาบาลตำบลนาวง ๑ " พ.ศ.
๒๔๙๖ ได้มีการแยกตำบลนาวงออกเป็น ๒ ตำบล คือ ตำบลนาวง และตำบลบางกุ้ง
ในืพ้นที่ตั้งของโรงเรียนได้อยู่ในเขตตำบลใหม่คือ ตำบลบางกุ้ง หมู่ที่ ๒
และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนวัดนาวง" เพื่อให้เหมือนกับวัดนาวง
ตั้งแต่นั้นมา พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๕๑๐
ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบอื่นๆเพิ่มเติม
เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งส่วนที่สร้างเงินงบประมาณและ
สร้างด้วยเงินบริจาค พ.ศ. ๒๕๑๑
ได้ชื้อที่ดินเพิ่มเติมทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก จำนวนพื้นที่ ๖ ไร่
เศษด้วยเงินบริจาคโดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแต่ประการใด พ.ศ. ๒๕๑๒ -
๒๕๒๒
ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนอาคารประกอบเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนตลอด
มา และใน พ.ศ. ๒๕๒๒
ได้มีการรื้ออาคารเรียนหลังแรกเพื่อปรับปรุงสนามโรงเรียนให้เป็นสัดส่วน พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้มีการปรับปรุงถมสนามได้เครื่องจักรกลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยใช้เงินบริจาคเป็นค่าน้ำมัน พ.ศ.๒๕๒๔
ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตรังเปิดการสอนศึกษาผู้ใหญ่ทางวิทยุ
และไปรษณีย์(ว.ปณ.) โดยนายถวิล แก้วมรกต
ครูโรงเรียนวัดนาวงเป็นผู้ดำเนินการ
ปัจุบันนี้เป็นศูนย์การเรียนชุมชนนาวงสังกัดศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน
อำเภอห้วยยอด พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีการปรับปรุงถมสนามเป็นครั้งที่ ๒
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สส.วิเชียร คันฉ่อง เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐.๐๐
บาทพร้อมกันนี้ได้ที่ดินทางด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนเพิ่มเติมโดยซื้อจาก
นาวเขียม ฮึ้งฮก ด้วยเงินบริจาค พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้อักษรย่อนามโรงเรียน "ว.น.ว." โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๕๒๙ โรงเรียนเปิดสอนขั้นอนุบาล ตามโครงการอนุบาลชนบท ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับงบประมาณสร้างสนามฟุตบอลแบบ ฟ.๑ ด้วยเงินงบประมาณ ๑ แสนบาท พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้มีการปรับปรุงถมสนามเป็นครั้ง ๓ ด้วยเงินบริจาค จนได้สภาพสนามที่สมบูรณ์ดังเช่นทุกวันนี้ พ.ศ. ๒๕๓๖ นักศึกษา กศน. ศูนย์การเรียนโรงเรียนวัดนาวงร่วมกันบริจาคเงิรสร้างป้ายชื่อโรงเรียนแบบถาวร มูลค่า ๒๐,๐๐๐ บาท พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๐ โรงเรียนได้เริ่มมีการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐานให้กับนักเรียน ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์ด้วยเงินงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ โรงเรียนได้สร้างถนนคอนกรีตรอบสนามโรงเรียนเป็นระยะทาง ๔๒๐ เมตร โดยการสนับสนุนในการหางบประมาณจาก สส.ทวี สุระบาล
รางวัลชื่อเสียงและเกียรติยศ
- พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้บริหารโรงเรียนได้รับปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็น
ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และรองอาจารย์ใหญ่ โดยมีนายปรีชา กตัญญู
เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก และ มีนายฉลอง ศิริพลบุญเป็นรองอาจารย์ใหญ่ -
พ.ศ. ๒๕๒๗ โรงเรียนเข้าประกวดโรงเรียนและผู้บริหารดีเด่น
ได้รางวัลดีเด่นระดับอำเภอ และรองอันดับ ๒ ระดับจังหวัด
และรางวัลชมเชยระดับประเทศ - พ.ศ. ๒๕๒๘ โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีการเสริมสร้างวินัยดีเด่นอันดับ ๒ ระดับจังหวัด - พ.ศ. ๒๕๓๒ โรงเรียนเข้าประกวด QC ระดับประเทศ โรงเรียนชนะอันดับสองได้รับโล่ห์เกียรติยศจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ -
พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้บริหารโรงเรียนได้รับการประเมินให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น
เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก คือ นายสมบูรณ์
พรหมประเสริฐ - พ.ศ. ๒๕๔๖
โรงเรียนทำเว็บไซต์ของโรงเรียนส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ ๑ ระดับจังหวัด
และรางวัลชมเชยระดับกรม(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) - พ.ศ. ๒๕๕๐ โรงเรียนได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) สมศ. -
พ.ศ. ๒๕๕๓ นักเรียนของโรงเรียนจำนวน ๓ คน คือ ๑. เด็กหญิงกชมน แก้วมรกต ๒.
เด็กหญิงมณฑกานต์ เทพวิเชียร และ ๓. เด็กหญิงประภัสสรา เทพวิเชียร
ได้เป็นเป็นตัวแทนภาคใต้ไปทำการแข่งขันการเขียน WebPage
ด้วยโปรแกรม WebEditor ในงานศิลปนักเรียนรดับชาติ ปีการศึกษา ๒๕๕๒
ได้ลำดับที่ ๒ และเหรียญทองระดับชาติ
- พ.ศ. ๒๕๕๔ ทางโรงเรียนวัดนาวงมีนางสุดคนึง อาจชอบการ
ศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดนาวงเอง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่
ได้ทำการพลิกฟื้นสภาพของโรงเรียนให้ดีขึ้นในทุกด้าน
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบรรดาศืษย์เก่าอย่างมากมาย |