แหล่งผลิตสินค้าโอทอป
|
 |
ผลิตภัณฑ์จากไม้เทพธาโร ผลิตภัณฑ์แกะสลักจากไม้เทพธาโร ผลิตขึ้นจากไม้เทพธาโรหรือไม้จวงหอม ซึ่งมีอยู่มากในเขตจังหวัดตรัง โดยนำตอไม้จวงที่ถูกโค่นเพื่อเอาพื้นที่ทำการเกษตร เหลือแต่ไม้ฝังอยู่ใต้ดิน จะผู้เอามาขายให้กับกลุ่มผู้ผลิตเครื่องแกะสลักจากไม้เทพธาโร ซึ่งโดยมากนิยมแกะสลักเป็นรูปปลาพะยูนสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมที่พบที่เกาะลิบงจังหวัดตรัง การแกะสลักไม้เทพธาโรเริ่มต้นจากบ้านหนองบัวอำเภอรัษฎา และต่อมาจัดตั้งกลุ่มแกะสลักไม้เทพธาโรขึ้นที่ ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด ติดถนนเพชรเกษม ใกล้ๆกับทางเขาถ้ำเลเขากอบ โดยมีนายสุภาพ พลการ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวสามารถจะแวะชมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โอทอปอันขึ้นชื่อของตรังได้
ผ้าทอนาหมื่นศรี นาหมื่นศรี เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอนาโยง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดตรังมาตั้งแต่ครั้งอดีตและในปัจจุบันนี้ ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้านาหมื่นศรี เพื่อสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไป นักท่องเที่ยวสามารถชมได้ที่ที่ทำการ กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี เส้นทางเดียวกับทางไปถ้ำเขาช้างหาย ตามถนนสายนาหมื่นศรี ประมาณ 5 กิโลเมตร ผ้าทอนาหมื่นศรีมีมา ประมาณ 400 ปี โดยทอด้วยกี่พื้นเมืองหรือเรียกว่า "หูก" ซึ่งจะนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาได้มีการฟื้นฟูการทอผ้า เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทำให้ปัจจุบันการทอผ้านาหมื่นศรีทำกันอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นอาชีพของเกือบทุกครัวเรือน ในหมู่บ้าน และมีการขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงหลายแห่ง และเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง
ขนมเค้กลำภูรา ในเขตเทศบาลลำภูรา ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด ถนนเพชรเกษม ช่วงตรัง - ห้วยยอดเป็นสถานที่ทำขนมเค้กเมืองตรังที่เลื่องชื่อไปทั่วประเทศ และไปถึงต่างประเทศด้วย นายขุกมิ่ง แซ่เฮง เป็นคนจีนได้เดินทางเข้ามาเมืองไทย ตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2472 ต่อมาได้มาเปิดร้านขายกาแฟที่ตำบลลำภูรา และได้เป็นผู้นำคิดค้นทำขนมเค้กเป็นคนแรก ต่อมาได้มีราษฎรคนอื่น ๆ ได้ทำขนมเค้กขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นที่แพร่หลายในตำบลลำภูรา เหมาะสำหรับซื้อเป็นของฝาก กล่องใหญ่ราคา 50 - 60 บาท นอกจากนั้นยังมีขนมประเภทอื่นๆขายอีกมากมาย
กลุ่มผลิตมีดพร้านาป้อ "บ้านนาป้อ" หมู่ 8 ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านกว่า 90% นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่ทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก อีกส่วนหารายได้จากการตี "พร้า" เครื่องมือเครื่องใช้เก่าแก่ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านนับแต่โบราณไม่น้อยกว่า 300 ปี เล่ากันว่า สมัยก่อนชาวบ้านนาป้อมีความคิดนำตะปูไปทิ่มดินในผืนนาให้เป็นรูแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าตะปูใช้ประโยชน์ได้ดี จึงเอาไปเจาะโคนต้นไม้ให้ต้นไม้ตายเพื่อนำไม้ไปปลูกสร้างขนำหรือเรือนหลังเล็ก ยิ่งกว่านั้นยังนำตะปูมาเปลี่ยนรูปร่างจนกลายเป็นมีดเหล็กปลายแหลม จากนั้นดัดแปลงให้เป็นมีดด้ามไม้ไผ่พร้อมใช้เชือกมัด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการตัด จนกลายเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีเสียงร่ำลือกันว่ามีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะตัดโคนต้นไม้ได้ดี ที่สุดก็กลายเป็นเครื่องใช้ที่ตลาดต้องการ สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ต้องการสร้างเมืองที่กันตัง สั่งให้นำมีดพร้านาป้อไปใช้ในการก่อสร้าง ต่อมาท่านได้สร้างถนนตรัง-พัทลุง ก็นำมีดพร้านาป้อไปเป็นเครื่องมือถางป่า จากนั้นท่านได้เสนอแนวคิดในการพัฒนามีดพร้า ที่จากเดิมใช้วิธีนำเหล็กเสียบไม้ทำด้ามมาเป็นใช้ไม้เสียบเหล็กทำด้ามแทน ปรากฏว่าทำให้มีดพร้านาป้อมีความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อมาจึงพัฒนามาทำขวานใช้สำหรับโค่นต้นไม้แทนมีดพร้า นับเป็นความสำเร็จของชาวบ้านนาป้อในขณะนั้น ปัจจุบันมีดพร้านาป้อส่งออกไปขายทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย 5% พม่า 7-8% ที่เหลือขายในประเทศประมาณ 50 จังหวัด การผลิตมีดพร้ามีส่วนประกอบมาก ไล่ตั้งแต่เหล็กแหนบรถยนต์ เหล็กแทง ถ่านไม้ แล็คเกอร์ น้ำมันวานิช น้ำประสานทอง ลวดทองแดง นอกจากนี้ยังต้องมีโรงตีเหล็ก เตาเผาเหล็ก สูบลม ทั่ง ค้อน ค้อนตีตรา คีมคีบเหล็ก เหล็กผ่าหรือสกัดเหล็ก ตะไบ หินเจียไฟฟ้า รางน้ำ เหล็กเขี่ยถ่าน เหล็กตักน้ำประสานทอง และเครื่องตัดเหล็กไฟฟ้า การทำมีดพร้าเริ่มตั้งแต่นำเหล็กแหนบมาผ่าแบ่งเป็นส่วนตามขนาด 12-11-10 นิ้ว จากนั้นนำเหล็กมาผ่าแยกเป็น 2 ชิ้น ตีเป็นด้ามมีด ตัวมีด แล้วนำไปลับให้เป็นคม จากนั้นนำไปชุบน้ำลอกสีจากสีดำเป็นสีขาว ทาน้ำมันวานิชป้องกันสนิม จากนั้นขึ้นรูปเพื่อตกแต่งโครงร่างให้เป็นมีดพร้า ประทับตราหรือยี่ห้อลงบนมีด และปัจจุบันยังผลิตจอบ ขวาน เสียมแทงปาล์ม เคียวตัดปาล์ม มีดตัดยาง และเครื่องครัวด้วย กำลังการผลิตรวมประมาณ 2,000 ชิ้นต่อเดือน ราคาขายตั้งแต่ 80-200 บาท ชาวบ้านมีรายได้คนละ 280-350 บาทต่อวัน" วันนี้มีดพร้านาป้อยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จึงทำให้มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพ ความคม แข็งแกร่ง ทนทาน จนมีคำเปรียบเปรยว่า "กินเหมือนมีดพร้านาป้อ" หมายถึงใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัด สับ ฟัน เหลา หวดหญ้า ถางป่า และเป็นอาวุธ สนใจใช้มีดพร้านาป้อติดต่อได้ที่ที่ทำการกลุ่ม ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดตรัง ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อป และร้านค้าตัวแทนในหลายจังหวัด หรือสอบถามที่กลุ่มมีดพร้านาป้อโทร.08-1894-0130
|