วันงดสูบบุหรี่โลก
ทุกวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็น วันงดสูบบุหรี่โลก
ความเป็นมา
วันงดสูบบุหรี่โลก
เริ่มมีการจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1988 โดยองค์การอนามัยโลก
เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่
การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก
ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม
วันงดสูบบุหรี่โลก บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนเรื่องบุหรี่
การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค
มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดโรคบางโรคมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควัน
บุหรี่ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค บุหรี่ยังทำให้เสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถ
ป้องกันได้ และกำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม
ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ( World No Tobacco Day) มีการกำหนดคำขวัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในแต่ละปี
กฎหมายคุ้มครอง
วันงดสูบบุหรี่โลก
บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเอง และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สูดหายใจเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป
เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์
นิโคติน ทาร์ เป็นต้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดนั้น ร้อยละ 90 เป็นผลเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ และถ้าสูบเกินวันละ 1 ซอง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 5-20 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบร้อยละ 80 และโรคหัวใจร้อยละ 50 ก็มีผลมาจากการสูบบุหรี่เช่นเดียวกันทั้ง
2 ฉบับ ได้แก่
1.
พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
พ.ศ.2535
มีสาระสำคัญคือ การประกาศเขตปลอดบุหรี่ โดยแบ่งเขตปลอดบุหรี่ออกเป็น
4 กลุ่มคือ
- เขตปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง เช่น รถยนต์โดยสารประจำทางทั้งที่ปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ
แท็กซี่ ตู้รถไฟปรับอากาศ ห้องชมมหรสพ
- เขตปลอดบุหรี่ทั้งหมดเช่น โรงเรียน ห้องสมุด ยกเว้น ห้องส่วนตัว
- เขตปลอดบุหรี่เกือบทั้งหมด เช่น สถานพยาบาล ศูนย์การค้า
สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ หากจะสูบก็ให้สูบเฉพาะเขตสูบบุหรี่
- เขตปลอดบุหรี่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ เช่น ตู้รถไฟโดยสารทั่วไป(ไม่ปรับอากาศ)
และร้านขายอาหารทั่วๆ ไป เฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ แต่ต้องจัดเขตสูบบุหรี่ไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด
2.
พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
มีสาระสำคัญคือการห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000
บาท ห้ามขายสินค้าอื่นและแถมบุหรี่ให้ หรือ
ขายบุหรี่แล้วแถมสินค้าอื่นๆ และห้ามการโฆษณาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ มิใช่จะกระทำแค่วันเดียว แต่ต้องทำอย่าง
ต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพและอนามัยที่ดีแก่ตนเองและผู้ใกล้ชิด
ถาม-ตอบ
วันงดสูบบุหรี่โลก
โดย ศ.น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์
จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/backissue/may44_1.html
ถาม: สารพิษที่มีอยู่ในควันบุหรี่ มีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
ตอบ: บุหรี่ นั้นประกอบด้วยสารพิษต่าง
ๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ชนิด สารพิษที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ สารนิโคติน ทาร์ และ แก๊สคาร์บอนมอนอ๊อกไซด์
สารนิโคตินเป็นสารเสพย์ติด ซึ่งทำให้คนที่สูบมีความ รู้สึกอยากจะสูบอีกถ้าใช้สารนิโคตินมากเกินไปจะมีอาการเวียนศรีษะ
คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่ใหม่ ๆ ก็จะมีความรู้สึกเช่นนี้ นอกจากสารนิโคตินแล้ว
ก็จะเป็นสารที่เรียกว่า ทาร์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งในปอด
และอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย สารตัวที่ 3 ที่มีผลเสียต่อร่างกาย
คือ แก๊สคาร์บอนมอนอ๊อกไซด์ ซึ่งแก๊สดังกล่าวนั้นจะไปแย่งที่อ๊อกซิเจนในการจัดกับเม็ดเลือดแดง
ซึ่งทำให้ปริมาณของอ๊อกซิเจนในเลือดน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยหรือคนที่สูบบุหรี่ขาดอ๊อกซิเจน
เพราะฉะนั้นโดยสรุปก็คือ สารพิษในควันบุหรี่มีมากมายมีมากกว่า 2,000 ชนิด 3 ชนิดที่สำคัญก็คือ สารนิโคติน ทาร์ และ
แก๊สคาร์บอนมอนอ๊อกไซด์ นอกจากนั้นแล้ว บุหรี่ยังมีสารที่เราเรียกกันว่า
สารก่อมะเร็งอีกมากมาย
ถาม: อันตรายของบุหรี่ต่อร่างกาย มีอะไรบ้าง
ตอบ: บุหรี่นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพมากมาย
ที่เราทราบกันดีก็คือ เรื่องของมะเร็งปอด บุหรี่นั้นมีความสำคัญโดยการที่ทำให้เกิดมะเร็งในปอดเกิดง่าย
นอกจากนั้นแล้ว สารพิษในควันบุหรี่จะทำให้เกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย
แน่นหน้าอก ไอเรื้อรัง สารพิษในควันบุหรี่ ยังทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในหลอดลม ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยตรง
นอกจากนั้นยังจะทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งของหลอดอาหาร การสูบบุหรี่ในหญิงตั้งครรภ์
จะมีผลกระทบกับเด็กที่อยู่ในครรภ์ ทารกที่ออกมาจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติได้
ถาม: ระยะเวลาในการสูบบุหรี่มากน้อยแค่ไหน
ถึงจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ
ตอบ: บุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพทันที ที่บุคคลนั้นสูบบุหรี่เข้าไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่างกันไปในระยะยาวและผลกระทบอย่างฉับพลัน สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีในการที่สูดควันบุหรี่เข้าไป
ก็คือ จะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ซึ่งควันบุหรี่จะประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนมอนอ๊อกไซด์
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเป็นแก๊สพิษ จะไปแย่งที่ของอ๊อกซิเจน ซึ่งอ๊อกซิเจนนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายก็จะทำให้ผู้ป่วยขาดอ๊อกซิเจนได้
นอกจากนั้นแล้ว ควันบุหรี่โดยเฉพาะสารที่เราเรียกว่า ทาร์ จะไประคายเคืองหลอดลมทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้
ทำให้เกิดอาการไอขึ้นมาทันที สารนิโคตินที่เป็นสารเสพย์ติดนั้น ถ้าเสพย์เข้าไปในระยะเริ่มต้น
ก็จะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นผลกระทบด้านสุขภาพจะเกิดขึ้นทันทีที่สูบบุหรี่
ในระยะยาว ถ้าคนที่สูบบุหรี่ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลาเป็นเดือน เป็นปี รวมทั้งจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น
ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพตามลำดับ ยังมีจำนวนมวนที่มากขึ้น
จำนวนระยะเวลาที่สูบมากขึ้น ก็จะมีผลกระทบทำให้เกิดพยาธิสภาพในปอด นั้นก็คือ จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งของปอด
จะทำให้ถุงลมซึ่งเคยมีความสามารถในการ ยืดหยุ่นที่ปกติ ขาดความสามารถในการยืดหยุ่น
ผลกระทบก็คือ ขาดความสามารถในการรับอ๊อกซิเจนเข้าไปในร่างกาย
ร่างกายก็ขาดอ๊อกซิเจน ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย มีอาการแน่นหน้าอก เดินไกล ๆ ไม่ได้
ก็เป็นผลกระทบระยะยาว
ถาม: ที่เรียกว่า การสูบบุหรี่มือสอง มีความหมายอย่างไร
ตอบ: การสูบบุหรี่มือสอง หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับเอาควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
เช่น การอยู่ในห้องทำงานเดียวกัน หรือ ภรรยาที่มีสามีที่สูบบุหรี่ การที่เราไม่ได้สูบบุหรี่แต่เราต้องไปสัมผัส
ควันบุหรี่กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดนั้นก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน มีรายงานวิจัยยืนยันออกมาชัดเจนว่า
อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่สัมผัสควันบุหรี่ โดยที่ไม่ได้สูบเอง
จะสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่เลย นอกจากนั้นแล้วอุบัติการณ์ของการเกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม
อุบัติการณ์ของการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ก็จะสูงขึ้นตามลำดับเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนที่สูบบุหรี่อย่าคิดว่าเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล
เพราะว่าควันบุหรี่ที่สูบออกมา หรือพ่นออกมานั้นจะมีผลกระทบต่อบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง
ทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน
ถาม: อันตรายของผู้ที่สูบบุหรี่และไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่
จะแตกต่างกันหรือไม่
ตอบ: จากที่ได้กล่าวแล้วว่า ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรง
แต่ว่าได้รับควันพิษจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพของ ปอดทั้งสิ้น
แต่ความรุนแรงนั้นแน่นอน ผู้ที่สูบบุหรี่เองโดยตรงจะมีความรุนแรงของการเกิดผลเสียต่อพยาธิสภาพของปอด
นั้นมากกว่า ผู้ที่ไม่ได้สูบเองโดยตรง ความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในปอดจากสารพิษในควันบุหรี่นั้น
จะขึ้นอยู่กับปริมาณของบุหรี่ที่สูบ คือ จำนวนมวนที่สูบ ประการที่สอง จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการสูบ
เพราะฉะนั้นจำนวนและระยะเวลานั้นมีผลกระทบ อย่างไรก็ตาม
ไม่ใช้หมายความว่าผู้ที่สูบบุหรี่จำนวนน้อย และระยะเวลาสั้นจะไม่เกิดมะเร็งปอด
หรือไม่เกิดพยาธิสภาพที่เราเรียกว่า ถุงลมโป่งพอง คนบางคนสูบบุหรี่ไม่มาก
และสูบมาไม่นานก็เกิดมะเร็งปอดได้ และเกิดถุงลมโป่งพอง จึงเป็นโรคเรื้อรังได้ เหตุผลดังกล่าวเชื่อว่ามีสภาพกรรมพันธุ์ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของปอดมาก
น้อยต่างกัน ในปริมาณบุหรี่ทีมากน้อยต่างกัน โดยสรุปก็คือ กรรมพันธุ์ นั้นมีผลกระทบในการรับเอาพยาธิสภาพของปอด
ซึ่งเกิดขึ้นจากสารพิษของควันบุหรี่มากน้อยต่างกันไป
ถาม: ผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานาน
ถ้าต้องการเลิกจะมีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือไม่
ตอบ: การหยุดบุหรี่มีผลดีต่อร่างกายแน่นอน
นั้นก็คือ ผู้ที่หยุดบุหรี่นั้นจะมีโอกาสในการเกิดมะเร็งปอด และถุงลมโป่งพองลดน้อยลง
นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีการถดถอยหรือความเสื่อมของสมรรถภาพการทำงานปอดทุกปี
นั้นก็คือ เมื่ออายุมากขึ้นแต่ละปีสมรรถภาพการทำงานของปอดก็จะเสื่อมลงตามลำดับ ถ้าคนคนเดียวกันหยุดบุหรี่
ความเสื่อมของปอดที่เกิดขึ้นทุก ๆ ปีนั้น จะถดถอยในความเร็วที่ช้าลง นั้นก็คือ
ความเสื่อมนั้นเกิดขึ้นแน่นอนทุก ๆ คน แต่ถ้าคนที่สูบบุหรี่จะมีความเสื่อมของปอดเกิดขึ้น
เรียกว่าถ้าหยุดบุหรี่ความเสื่อมของปอดจะอยู่ในสภาพที่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้น
การหยุดบุหรี่จะทำให้เกิดอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดโรคลดน้อยลง ความเสื่อมของปอดลดน้อยลง
เพราะฉะนั้น มีผลดีไม่มีผลเสียอย่างที่เข้าใจกัน ยกเว้นในระยะเริ่มต้นนั้นอาจจะรับประทานอาหารได้มากขึ้นเล็กน้อย
น้ำหนักตัวอาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้นแล้วก็จะเหมือนคนปกติทั่ว ๆ ไป
โดยสรุป การหยุดบุหรี่ก็จะมีแต่ผลดี ไม่มีผลเสีย
ถาม: ส่วนใหญ่มักพบว่า คนที่กำลังเลิกสูบบุหรี่มักจะมีอารมณ์
หงุดหงิด โกรธง่าย ปัญหานี้ควรทำอย่างไร
ตอบ: ความตั้งใจในการหยุดบุหรี่ ความสำคัญความสำเร็จในการที่จะหยุดบุหรี่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความ
ตั้งใจของผู้ที่ต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่ สำหรับอารมณ์หงุดหงิดที่เกิดขึ้นหลังจากเลิกสูบบุหรี่ใหม่
ๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเราทราบกันดีว่าบุหรี่เป็นสารเสพย์ติด คนที่สูบบุหรี่ก็จะติดสารนิโคติน
เมื่อไม่มีสารนิโคตินก็จะมีความรู้สึกหงุดหงิด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ในปัจจุบันนอกจากอาจจะอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งของผู้ที่ตั้งใจจะงดบุหรี่แล้ว
ก็ยังมียาที่จะช่วยไม่ว่าจะเป็น ยาชนิดรับประทาน และสารนิโคติดที่ใช้เป็นแผ่นพาสเตอร์สำหรับติดบริเวณหน้าอก
ซึ่งเป็นสารทดแทน แทนที่จะเสพย์เข้าไปทางการสูบบุหรี่เข้าไป ก็จะช่วยลดปฏิกิริยาของการติดนิโคตินได้ในระดับหนึ่ง
ถาม: หน่วยบริการที่ให้คำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ อยู่ที่ใด
ตอบ: เราสามารถให้คำแนะนำได้ใน ร.พ.
ของรัฐทุกแห่ง ในสถานที่ที่มีบริการทางด้านอายุรศาสตร์ แพทย์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคทางอายุรศาสตร์นั้นสามารถที่จะ
ให้คำแนะนำการหยุดบุหรี่ได้ ซึ่งแน่นอนว่า เราจะต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ที่จะหยุดบุหรี่
จากประสบการณ์พบว่า ถ้าคนที่มาปรึกษาไม่ได้ตั้งใจที่จะหยุดบุหรี่เอง เช่น
ภรรยาพามา ลูกพามา ขอคำปรึกษาที่จะหยุดบุหรี่ พบว่าโอกาสที่จะล้มเหลวนั้นสูงมาก
นั้นก็คือ ผู้ที่จะขอคำปรึกษานั้นไม่ได้มีความตั้งใจเองที่จะหยุดบุหรี่ เพราะฉะนั้นความสำเร็จ
จะสูง ถ้าคนที่ต้องการที่จะหยุดบุหรี่มาขอรับคำปรึกษาโดยตรง เพราะฉะนั้นโดยสรุป ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความตั้งใจอันแน่วแน่ของบุคคลนั้น
ๆ
ถาม: ขอคำแนะนำเรื่องในโอกาส วันงดสูบบุหรี่โลก
ตอบ: บุหรี่นั้นเป็นยาเสพย์ติดชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขของ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ในประเทศไทยของเรานั้นมีผู้ที่สูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่า
10 ล้านคน ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้มีความถดถอยของสมรรถภาพการทำงานของปอดทำให้มีอุบัติการ
ของโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น อุบัติการณ์ของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง อุบัติการณ์ของโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น
ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้มีความเสื่อมในการปฏิบัติภาระกิจประจำวัน มีความสูญเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์จะต้องดูแลรักษาตัวเอง
นอกจากนั้น ยังต้องเสียเวลาแรงงานสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่ต้องมาดูแลผู้ป่วยดังกล่าว
เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผมขอแนะนำว่าผู้ใดก็ตามที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่ก็อย่าไปสูบบุหรี่
โดยเฉพาะวัยรุ่น ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วควรที่จะตัดสินใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้
เพื่อสุขภาพของตัวท่านเองและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านครับ
เครดิต www.tichthai.com
|